วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เสริมความรู้การถักนิตติ้ง (ขนาดถัก)

ขนาดถัก หมายถึง จำนวนห่วงและจำนวนแถวต่อหนึ่งนิ้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของห่วงนิต ซึ่งจะเปลี่ยนขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับชนิดของไหมและขนาดของไม้นิตที่ใช้ถัก และรวมถึงวิธีการถักด้วย ปกติจะเทียบขนาดเท่ากับ 4 นิ้ว หรือ 10 ซม. ผู้ที่ถักนิตติ้งแต่ละคนจะมีสไตล์การถักที่แตกต่างกัน บางคนถักแน่นบางคนถักหลวม ดังนั้นเมื่อต้องการถักงานนิตติ้งชิ้นใด ก็ควรจะมีการถักผืนตัวอย่างขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบในหลาย ๆ จุด เช่น ลวดลายเมื่อถักขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไร ไหมที่ใช้ถักสีตกหรือหดไหม วิธีการถักถูกต้องตามที่แบบกำหนดหรือเปล่า และข้อสำคัญก็คือ ขนาดถูกต้องไหม หากถักไปเลยไม่ได้ทดสอบกับผืนถักตัวอย่าง เมื่อผิดพลาดขึ้นมาจะเสียเวลาเป็นอย่างมากและอาจเสียของด้วย

ขนาดถักของคุณ

ก่อนที่คุณจะตรวจสอบว่า แบบถักกำหนดให้ใช้ไม้นิตขนาดอะไรนั้น ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เมื่อขนาดถักในแบบนั้น บอกว่า "ให้ใช้ไม้นิตตามขนาดเบอร์ 6 (4 มม. - ขนาดอเมริกา)" นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณต้องใช้ไม้นิตตามขนาดที่ระบุเสมอไป เพราะไม้นิตที่แบบถักระบุนั้น ผู้ออกแบบเป็นผู้ใช้ถัก และให้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกขนาดของไม้นิตให้กับผู้ที่ต้องการถักงานชิ้นนั้น ซึ่งอาจจะตรงกับขนาดที่ระบุหรืออาจไม่ตรงก็ได้

สำหรับผู้ที่ถักนิตติ้งมาบ้างแล้วก็คงจะทราบถึงสไตล์การถักของตนเองว่าเป็นคนถักแน่นหรือถักหลวม ด้วยความเข้าใจในสไตล์การถักของตนทำให้เป็นประโยชน์เมื่อจะเลือกหยิบไม้นิตขึ้นมาลองถักผืนตัวอย่าง ขอให้ระลึกไว้อีกอย่างหนึ่งว่าสไตล์การถักนิตติ้งของคุณอาจเปลี่ยนไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ไหมและลายถักที่แตกต่างกันในแต่ละคราว ฉะนั้นอย่าได้ละเลยที่จะถักผืนตัวอย่างเพียงเพราะว่าคุณใช้ไม้นิตขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าที่แบบกำหนดอยู่แล้วเสมอ แม้แต่ผู้ชำนาญการถักนิตติ้งยังต้องถักผืนตัวอย่างหลาย ๆ ผืน ในการถักงานแต่ละชิ้น โดยเลือกใช้ไม้นิตที่มีขนาดแตกต่างกันไป จนกว่าจะได้ขนาดถักที่สมบูรณ์ที่สุด

การถักผืนตัวอย่าง

ให้ใช้ไหมและไม้นิตที่จะใช้งานถักจริง ถักลายนิตติ้งตามที่แบบถักกำหนด ให้ได้ขนาด 5 x 5 นิ้ว (ถักขนาดใหญ่กว่าที่จะวัดคือ 4 x 4 นิ้ว เพื่อสะดวกในการวัด) หากรู้สึกว่าผืนตัวอย่างแน่นไปให้ใช้ไม้นิตขนาดใหญ่กว่าที่แบบกำหนด และถ้าผืนตัวอย่างหลวมไปก็ให้ใช้ไม้นิตขนาดเล็กกว่าที่แบบกำหนด

ให้วางผืนตัวอย่างราบกับพื้น ใช้เข็มหมุดกลัดโดยรอบ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้เส้นใยคืนตัว หรือได้ขนาดตามธรรมชาติของเส้นใยนั้น ๆ หรือนำไปอังไอน้ำแล้วทิ้งให้แห้ง หากต้องการทดสอบสีตกหรือการหดของไหม ก็ให้นำไปซัก ใช้เข็มหมุดกลัดโดยรอบแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง

การวัดขนาดถัก

1. คลี่ผืนตัวอย่างออกแล้ววางบนพื้นราบ ใช้สายวัดหรือไม้บรรทัดวัดผืนตัวอย่างให้ห่างจากริมเข้ามา 2 ห่วง แล้วใช้เข็มหมุดกลัดตรงตำแหน่งนั้น
2. วัดตามแนวนอนให้ได้ขนาด 4 นิ้ว (10 ซม.) แล้วใช้เข็มหมุดอีกอันหนึ่งกลัดตรงตำแหน่ง 4 นิ้ว หากใช้เส้นไหมเล็กคุณอาจถักผืนตัวอย่างที่มีขนาดเพียง 2 นิ้ว (5 ซม.) ก็ได้ แต่ถ้าเป็นไหมเส้นใหญ่คุณอาจจำเป็นต้องถักผืนตัวอย่างที่มีขนาด 6-8 นิ้ว (15-20 ซม.) ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการวัด
3. นับจำนวนห่วง หาทำตามคำแนะนำในแบบถักแล้ว ผืนถักตัวอย่างของคุณมีห่วงมากกว่าขนาดถักที่กำหนด นั่นหมายความว่าห่วงมีขนาดเล็กเกินไปให้เปลี่ยนใช้ไม้นิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และถ้ามีห่วงน้อยกว่าขนาดถักที่กำหนดให้เปลี่ยนใช้ไม้นิตที่มีขนาดเล็กลง
4. ให้วัดจำนวนแถวเช่นเดียวกับวิธีวัดจำนวนห่วง อย่าลืมว่าห่วงเพียงครึ่งห่วงหรือเสี้ยวของห่วงก็ต้องนับด้วย ข้ามไปไม่ได้เป็นอันขาด เพราะถ้าข้ามไปไม่ได้ถูกนับเข้าไปด้วย ถือว่าเป็นการวัดที่ไม่ละเอียดจะมีผลทำให้ขนาดถักผิดพลาดผิดขนาดไปหมด

สำหรับการวัดขนาดถักของลายนิตติ้งที่มีความยุ่งยากซับซ้อน (ไม่ใช่ลายสต็อกกิ้ง) เช่น ลายเกลียว ลายลูกไม้ ลายดอกดวงต่าง ๆ นั้น มีวิธีการวัดที่แตกต่างกันดังนี้

เนื่องจากลายที่ยุ่งยากซับซ้อนดังที่ได้กล่าวมาจะมีลายเป็นช่วง ๆ ดังนั้น เวลาวัดขนาดถักก็ให้วัดเพียงช่วงลายเดียวหรือมากกว่า ว่ามีทั้งหมดกี่ห่วงกี่แถว ได้เท่าไรให้นำไปคูณ 4 นิ้ว (10 ซม.) นำผลลัพธ์ที่ได้ไปหารความกว้างหรือความยาวของช่วงลายนั้น ๆ ก็จะได้ว่าช่วงลายนั้น ๆ มีขนาดถักเท่ากับกี่ห่วง (ปกติแล้วจะได้เป็นจุดทศนิยม) ส่วนวิธีที่จะช่วยให้คุณผู้อ่านกำหนดว่าช่วงลายอยู่ตรงไหนนั้น ก็โดยการถักไปครึ่งผืน แล้วใช้เข็มหมุดกลัดตรงตำแหน่งก่อนเริ่มต้นช่วงลายที่คุณต้องการวัด แล้วใช้เข็มหมุดอีกอันหนึ่งกลัดตรงห่วงสุดท้ายของช่วงลาย

การคำนวณหาขนาดถัก

เมื่อคุณทราบแล้วว่าใน 4 นิ้ว (10 ซม.) มีจำนวนห่วงเท่าใด ต่อไปก็เป็นการง่ายที่จะทราบว่าในความกว้างที่ต้องการมีจำนวนห่วงเท่าใด โดยใช้สูตรต่อไปนี้

จำนวนห่วงที่ได้ในขนาด 4 นิ้ว (10 ซม.) หารด้วย 4 นิ้ว (10 ซม.) ก็จะได้เท่ากับ จำนวนห่วง ต่อ 1 นิ้ว

นำจำนวนห่วงต่อ 1 นิ้วไปคูณจำนวนวัด เราก็จะได้คำตอบว่า จำนวนห่วงทั้งหมดที่ต้องการเป็นเท่าใด ส่วนการหาจำนวนวัด เราก็จะได้คำตอบว่า จำนวนห่วงทั้งหมดที่ต้องการเป็นเท่าใด ส่วนการหาจำนวนช่วงลายของลายนิตติ้งซับซ้อนที่มีช่วงลายเป็นช่วง ๆ ก็ให้หาดังนี้

ตัวอย่าง

ช่วงลายหนึ่ง ๆ มีขนาดเท่ากับ 1 3/4 นิ้ว หรือ 4.5 ซม.
งานถักกว้างเท่ากับ 13 นิ้ว หรือ 33 ซม.
ช่วงลายทั้งหมดที่ต้องการเท่ากับ 7.3 ช่วงลายหรือ 7 ช่วงลายกับอีก 2-3 ห่วง (33 ซม. หาร 4.5 ซม.)
ให้คำนวณหาขนาดถักของจำนวนแถวเช่นเดียวกับวิธีหาขนาดของจำนวนห่วง


ที่มา : หนังสือประดิดประดอย ปีที่ 7 ฉบับที่ 78 ประจำเดือนธันวาคม 2539 หน้า 29-30

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถักนิตติ้ง

ก่อนการเริ่มต้นทำงานถักนิตติ้งนะคะ เราก็ต้องมาทำความรู้จักอุปกรณ์ที่เราจำเป็นใช้กันอยู่อย่างสม่ำเสมอในงานถักนิตติ้งกันก่อนค่ะ

1. ไม้นิต (Knitting Needle) มีแตกต่างกันขนาดค่ะ เราสามารถเลือกใช้ไม้นิตขนาดต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับงานถักของเราว่าใช้ไหมพรมเส้นเล็กหรือใหญ่ ถักชิ้นงานผืนเล็กหรือผืนใหญ่ค่ะ ขนาดของไม้นิตที่นิยมใช้กันในบ้านเราส่วนใหญ่ ก็มีขนาดตามตารางนี้นะคะ

อังกฤษ

อเมริกา

ญี่ปุ่น

ขนาดหัว (มม.)

14

0

-

2

13

1

0

2 ¼

-

-

1

2 ½

12

2

2

2 ¾

11

-

-

3

10

3

3

3 ¼

-

4

4

3 ½

9

5

5

3 ¾

8

6

6

4

-

-

7

4 ¼

7

7

8

4 ½

6

8

9

5

-

-

10

5 ¼

5

9

11

5 ½

4

10

12

6

-

-

13

6 ¼

3

10 ½

14

6 ½

2

-

15

7

1

-

-

7 ½

0

11

-

8

00

13

-

9

000

15

-

10

ไม้นิตมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ

- ไม้นิตชนิดธรรมดา (ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร) จะใช้กับงานถักที่มีขนาดพอเหมาะ ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
- ไม้นิตชนิดยาว ใช้สำหรับงานถักที่มีชนาดชิ้นงานใหญ่ ๆ
- ไม้นิตชนิดวงกลมหรือไม้นิตโค้ง จะใช้กับงานถักประเภทหมวก ถักรอบคอ สาบเสื้อ เป็นต้น

ไม้นิตที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายชนิด มีทั้งชนิดที่เป็นพลาสติก ไม้ และโลหะ ไม้นิตชนิดไม้จะใช้ได้ดีกว่าชนิดอื่น ๆ เพราะไม้จะมีความลื่นมันอยู่ในตัว ไม่ควรเลือกใช้ไม้นิตที่มีลักษณะอ่อน เช่น พลาสติก และหลังการใช้งานทุกครั้งก็ควรเช็ดทำความสะอาด เก็บไว้เป็นชุดคู่กันให้เรียบร้อยทุกครั้งนะคะ

2. ไม้เซท ไม้เซทจะมีขนาดเล็ก-ใหญ่ แตกต่างกันเช่นเดียวกันกับไม้นิต ลักษณะของไม้เซท เป็นไม้ที่มีปลายแหลมทั้งสองข้าง เพื่อให้ใช้ได้ทั้งสองทางนั่นเอง ประโยชน์ของไม้เซทก็คือ ใช้สำหรับการเก็บห่วง เพราะงานถักเหล่านั้นมักไม่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น เก็บห่วงรอบคอเสื้อ เก็บห่วงเพื่อถักส่วนหลังของถุงเท้า รองเท้าเด็ก เป็นต้น การใช้ไม้เซทนี้จะใช้คู่กับไม้นิต คือ ใช้ขนาดเบอร์เดียวกัน เพื่อให้งานถักเรียบเสมอกันค่ะ

3. ไม้เซทสำหรับบิดเกลียว ใช้สำหรับชิ้นงานที่ต้องมีลายเกลียว เพื่อไม่ให้ห่วงเลื่อนหลุดและมีขนาดเล็กพอเหมาะกับช่วงลายค่ะ

4. ไหมพรมหรือด้าย มีกันมากมายหลายยี่ห้อค่ะ ก่อนที่เราจะเลือกซื้อนั้น เราก็ต้องดูก่อนว่าชิ้นงานที่เราจะทำการถักนั้น ระบุให้ใช้ไหมพรมหรือด้ายชนิดไหน จำนวนเท่าไรค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานมีขนาดผิดเพื้ยนไปจากต้นฉบับ และไม่ให้มีไหมพรมเหลือมากเกินความจำเป็นค่ะ ก่อนอื่นเราก็ต้องมารู้จักไหมพรมก่อนนะคะ ว่ามีชนิดไหนกันบ้าง โดยทั่ว ๆ ไป ไหมพรมจะมีการระบุขนาดใหญ่-เล็กของเส้นไหม เป็นจำนวน ply ไว้ดังนี้ค่ะ

- ไหมพรมขนาด 3 ply คือ ไหมพรมชนิดที่เส้นไหมแยกออกได้เป็น 3 เส้นเกลียว

- ไหมพรมขนาด 4 ply คือ ไหมพรมชนิดที่เส้นไหมแยกออกได้เป็น 4 เส้นเกลียว

- ไหมพรมเส้นใหญ่ เราเรียกว่า Double Knitting

- ไหมพรมสำหรับถักเครื่องใช้เด็ก มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Baby Wool

- ไหมพรมชนิดเป็นปุยสำหรับถักเครื่องใช้เด็ก และเครื่องใช้ที่มีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ (Baby Soft Knitting Yarn) จะมีขนาดใหญ่กว่า Baby Wool เล็กน้อย

นอกจากนี้ยังมีเส้นไหมชนิดอื่น ๆ อีก ที่ทำมาจากฝ้าย ไนลอน และด้ายถักชนิดต่าง ๆ ก็ใช้ถักนิตติ้งได้ค่ะ และในปัจจุบันก็มีไหมชนิดต่าง ๆ ขนาดต่าง ๆ ผลิตขึ้นมามากมาย เพื่อให้เราได้เลือกใช้ได้ตามความต้องการและความเหมาะสม ซึ่งขนาดและน้ำหนักของไหม แต่เดิมนิยมบอกเป็นออนซ์ แต่ปัจจุบันบางชนิดจะบอกเป็นกรัม การบอกจำนวนก็เพื่อความสะดวกในการที่จะช่วยให้ผู้ทำกะจำนวนไหมได้พอดี ไม่ขาดหรือเหลือมากเกินไปค่ะ

ขนาดเปรียบเทียบน้ำหนักกรัมและออนซ์

28 กรัม ประมาณ 1 ออนซ์

40 กรัม ประมาณ 1 1/2 ออนซ์

50 กรัม ประมาณ 1 3/4 ออนซ์

100 กรัม ประมาณ 3 1/2 ออนซ์

5. เข็มเย็บไหมพรม เป็นเข็มเล่มใหญ่ขนาดที่จะร้อยเส้นไหมได้สะดวกสบาย ปลายเข็มทู่ เพื่อป้องกันการเกี่ยวเส้นไหม ใช้สำหรับการต่อชิ้นงานถักให้เป็นชิ้นเดียวกัน

6. เข็มโครเชต์ ใช้สำหรับประกอบในการถักลายหรือในการขึ้นห่วงโซ่ในการเริ่มถักชิ้นงาน และใช้ในการเก็บห่วงหลังจากถักชิ้นงานเสร็จค่ะ

สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ไม้บรรทัดนับห่วงหรือแถว จุกปิดไม้นิต เข็บกลัดเก็บห่วง วงนับห่วงและนับแถว เราก็สามารถที่จะพิจารณาเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมนะคะ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการถักชิ้นงานค่ะ